CATV

                                                             CATV


ระบบ CATV ซึ่งย่อมาจาก Community Antenna Television System เป็นระบบสายอากาศร่วมเช่นเดียวกับระบบ MATV แต่มีส่วนที่แตกต่างกันคือ MATV นั้น เราหมายถึงการป้อนระบบในตัวอาคารเดียว ในขณะที่ระ CATV จะหมายถึงการป้อนในบริเวณที่กว้าง เช่น ป้อนเป็นหมู่บ้าน หรือเป็นเมือง เป็นต้น ดังนั้นโดยทั่วไประบบ CATV จึงมีขนาดใหญ่กว่าระบบ MATV และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ก็จะแข็งแรงทนทานกว่าที่ใช้ในระบบ MATV ในบทนี้จะกล่าวถึง โครงสร้าง หลักการออกแบบ การคำนวณระดับสัญญาณ และตัวอย่างของระบบ CATV

 โครงสร้างของระบบ CATV 
ระบบ CATV ซึ่งเป็นระบบส่งสัญญาณทีวีผ่านสายนำสัญญาณไปตามบ้านเป็นระบบส่งสัญญาณทีวี ที่ใช้กันมานานแล้วเช่นเดียวกัน โดยใช้ในการส่งในหมู่บ้าน หรือในเมืองที่มีพื้นที่ไม่มากนักปัจจุบันระบบนี้นอกจากจะใช้ในลักษณะดัง กล่าวแล้ว ยังใช้ในการแก้ปัญหาการรับภาพไม่ได้ในตัวเมืองที่มีตึกสูงๆด้วย ในบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยบังคับให้ผู้ที่ทำการก่อสร้างตึกสูงๆ ที่มีผลทำให้บ้านเรือนละแวกนั้นรับภาพโทรทัศน์ไม่ได้(รับไม่ได้เพราะสัญญาณ อ่อนมาก หรือมีภาพซ้อน) จะต้องติดตั้งระบบ CATV เพื่อป้อนสัญญาณทีวีให้กับบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบนั้น ดังนั้นผู้สร้างตึกจะต้องทำการสำรวจทั้งทางภาคทฤษฏีและภาคสนามในการกำหนด บริเวณที่จะต้องทำการป้อนระบบ CATV ให้ตามกฎหมาย

ตามลักษณะการใช้งานดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ระบบ CATV มีลักษณะแตกต่างกับระบบ MATV 2 ประการด้วยกันคือ
  • ความยาวของสายสัญญาณจากเฮดเอนด์จนถึงปลายทางจะมีความยาวมากกว่าในระบบ MATV กล่าวคือ ในระบบ MATV ความยาวของสายจากเฮดเอนด์จนถึงเอาต์เลตทีวีปลายทางที่อยู่ไกลที่สุดมักจะ อยู่ในหลัก 100m ถึง 200m เป็นส่วนใหญ่ แต่ในระบบ CATV นั้น ความยาวนี้อาจจะเป็นหลายร้อยเมตรหรืออยู่ในหลักของกิโลเมตร เป็นต้น
  • การเดินสายและการติดตั้งอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ภายนอกอาคาร
ข้อแตกต่าง 2 ประการดังกล่าวนี้ ทำให้ระบบ CATV ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น และอุปกรณ์ที่ใช้ก็ต้องแข็งแรงทนทานกว่าที่ใช้ในระบบ MATV อุปกรณ์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่คือ เครื่องขยายสัญญาณแบบต่างๆ ที่จะต้องเพิ่มเข้าไปในระบบเพื่อขยายสัญญาณที่ลดต่ำลงให้สูงขึ้นนั้น การลดต่ำลงของระบบสัญญาณนั้น เฉพาะส่วนที่ลดต่ำลงเนื่องจากความยาวของสายนำสัญญาณที่จะมีไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสายจากเฮดเอนด์ถึงปลายทางยาว 500m และใช้สายที่มีการสูญเสีย 8dB/100m ที่ความถี่ช่องสูงสุดที่ใช้งาน ก็หมายความว่า เฉพาะการสูญเสียในสายจะเป็น40dB เมื่อรวมกับการสูญเสียในอุปกรณ์อื่นๆ ก็จะมีค่าสูงขึ้น ซึ่งอาจจะสูงถึง 60-70 dB หรืออาจจะมากกว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนหลังคาเรือนที่ต้องทำการป้อน และเนื่องจากสัญญาณเอาต์พุตจากเครื่องขยายในเฮดเอนด์เป็นประมาณ 115-120 dB จึงทำให้ระดับสัญญาณที่ปลายทางต่ำเกินไป ผลก็คือ ต้องติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณระหว่างทาง

ความคิดเห็น